ลักษณะการแต่งกายตามหลักการอิสลาม
มุสลิม หมายถึงผู้นับถือศาสนาอิสลาม แบ่งเป็นมุสลิมีน (มุสลิมชาย) และมุสลิมะห์ (มุสลิมหญิง) ในการแต่งกายของมุสลิมตามหลักการในศาสนาอิสลาม มีวัตถุประสงค์สำคัญในการปกปิดสิ่งพึงละอายของร่างกาย โดยเฉพาะร่างกายของสตรีมุสลิม ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของเรือนร่างเพศหญิง ดึงดูดความสนใจของบุรุษเพศ อันจะก่อให้เกิด "ฟิตนะห์" (ความเสียหาย ความไม่ดีไม่งามต่อสังคม) ศาสนาอิสลามจึงได้วางหลักเกณฑ์ไว้เพื่อป้องกันฟิตนะห์ที่จะเกิดขึ้น
เสื้อผ้าของทั้งมุสลิมชาย และมุสลิมหญิง ต้องสะอาด ประณีต เรียบร้อย ดูสวยงามเหมาะสมกับบุคลิกภาพ โดยการดำรงตนสมถะหรือการเคร่งครัดในศาสนา ซึ่งไม่จำเป็นต้องหมายถึงการใส่เสื้อผ้าเก่าแลดูซอมซ่อ เพื่อให้บุคคลอื่นเห็นว่าไม่ใส่ใจใยดีต่อโลก แต่ควรแต่งกายให้เหมาะสมด้วยสีสันและลวดลาย โดยหลักการศาสนาอิสลาม เสื้อผ้าที่มีลวดลายเป็นรูปสัตว์ หรือรูปมนุษย์ ต้องพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ และสำหรับมุสลิมชายนั้น มีข้อห้ามในการสวมผ้าไหม และสิ่งทอที่ประกอบหรือประดับด้วยทองคำแท้
มุสลิมหญิง
"ฮิญาบ" ความหมายทางศาสนา
คือ การปิดกั้น และความอ่อนน้อมถ่อมตน โดยมุสลิมชาย และมุสลิมหญิง
ถูกสั่งใช้ให้คลุมฮิญาบ (อันหมายถึง ปกคลุมปิดกั้นตน
ด้วยกิริยาในความอ่อนน้อมถ่อมตน) เช่น มุสลิมชายให้สำรวมตนโดยการลดสายตาลงต่ำ
และมุสลิมหญิงพึงสงวนท่าทีและกิริยามารยาท แต่ความหมายโดยทั่วไปทางกายภาพของฮิญาบ
คือ ผ้าคลุมศีรษะของมุสลิมหญิง ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายที่ใช้กันเป็นปกติในชีวิตประจำวันของสตรีทุกคนที่นับถือศาสนาอิสลาม
การคลุมฮิญาบของมุสลิมหญิง มีเกณฑ์ตาม "เอาเราะฮ์" (สิ่งพึงปกปิด)
โดยสามารถพิจารณาได้หลายหลักเกณฑ์ เช่น เอาเราะฮ์ระหว่างชายหญิงทั่วไป
เอาเราะฮ์ของเด็ก เอาเราะฮ์ระหว่างบุคคลในครอบครัวญาติพี่น้อง
เอาเราะฮ์ระหว่างสามีภรรยา ฯลฯ ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันไป
โดยเอาเราะฮ์ระหว่างชายหญิงตามปกติทั่วไปนั้น
สตรีมุสลิมต้องปกปิดร่างกายทั้งหมดยกเว้นเพียงใบหน้าและฝ่ามือ
ด้วยความเรียบร้อยเหมาะสม การคลุมศีรษะต้องปิดบังเส้นผมจนถึงหน้าอก โดยที่ไม่เผยให้เห็นทรวดทรงหรือส่วนเว้าส่วนโค้งของร่างกาย
ส่วนเอาเราะฮ์ของผู้ชายโดยทั่วไปนั้น คือการปกปิดตั้งแต่บริเวณสะดือถึงหัวเข่า
มุสลิมชาย
ในพื้นที่คาบสมุทรมลายู นิยมสวมแขนยาวเสื้อคอตั้ง
สวมกางเกงขายาว และมีผ้าโสร่งผืนสั้น ที่เรียกว่า ผ้าซองเก็ต พันรอบเอว
หากอยู่ในชุดลำลองจะสวมใส่โสร่ง ลายตารางทอด้วยฝ้าย สวมเสื้อเชิ้ตลำลอง เสื้อกุรง
หรือเสื้อยืด ซึ่งนิยมในมุสลิมชายในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสวมหมวก "กะปิเยาะห์" ซึ่งเดิมเป็นสัญลักษณ์แห่งวัฒนธรรมในการสวมใส่หมวกของชาวอาหรับ
ในประเทศแถบมลายูรวมถึงจังหวัดปัตตานี ยะลา
และนราธิวาส จะนิยมสวมใส่หมวกที่เรียกกันว่า "ซอเกาะก์" (Songkok)
ส่วนหมวกกะปิเยาะฮ์นั้นเป็นหมวกที่ชาวไทยมุสลิมสวมใส่ประกอบศาสนกิจ
(การประกอบพิธีละหมาด) และสวมใส่ประจำวัน เกิดจากการนำผ้าหลาย ๆ
ชนิดมาตัดเย็บซ้อนกัน 3 ชั้น
เย็บด้วยผ้าหลายชนิดทับซ้อนกัน และจะมีลวดลายต่าง ๆ บนหมวก ฝีมือการผลิตประณีต
มีลวดลายปักและฉลุหลายแบบ คำว่า กะปิเยาะห์ แผลงจากคำว่าตะกียะห์ แปลว่า หมวก
โสร่ง (Sarong) ซึ่งเป็นผ้านุ่งอย่างหนึ่ง
ที่ใช้ผ้าผืนเดียว เพลาะชายสองข้างเข้าด้วยกันเป็นถุง แบบเดียวกับผ้าถุง
หรือผ้าซิ่น ใช้นุ่งอย่างแพร่หลาย ทั้งหญิงและชาย ในหลายประเทศของเอเชีย
โดยเฉพาะเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย
และประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน บังคลาเทศ ฯลฯ
นอกจากนี้ยังนิยมใช้ในหลายท้องถิ่นในหมู่เกาะแถบมหาสมุทรแปซิฟิก
โดยที่แต่ละท้องถิ่น จะมีชื่อเรียกต่างกันไป ทว่าอาจเรียกรวม ๆ ได้ว่า โสร่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น